วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การแสดงเจตนา

การแสดงเจตนา

                "นิติกรรม" คือ การกระทำของบุคคลที่ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลในทางกฎหมาย ผลในกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยนิติกรรมนี้ย่อมเกิดขึ้นตามที่คู่กรณีมีเจตนาให้เกิดผลเช่นนั้น ดังนั้น นิติกรรม จึงมี "การแสดงเจตนา" ของบุคคลเป็นพื้นฐาน [1]

                คำว่า "นิติกรรม" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 149 ได้บัญญัติไว้ว่า นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ[2]

ความหมายของ "การแสดงเจตนา"

                คำว่า "การแสดงเจตนา" แสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าต้องประกอบด้วย "เจตนา" ภายในจิตใจของบุคคล และ "การแสดง" ออกมาภายนอกซึ่งเจตนานั้น[3]

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการแสดงเจตนา

                โดยการพิจรณาจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 อาจแบ่งแยกสาระสำคัญได้ดังนี้
1.บุคคลผู้แสดงเจตนา
                ตามหลักเกณฑ์อันเกี่ยวกับองค์ประกอบของนิติกรรม มาตรา 149 ได้กำหนดให้นิติกรรมนั้นอาจจะเกิดขึ้นก็ด้วยการแสดงเจตนาของบุคคล ดังนั้นบุคคลผู้แสดงเจตนาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อาจแยกประเภทของบุคคลผู้มีอำนาจแสดงเจตนาทำนิติกรรมได้ 2 ประเภท คือ

                1.1 บุคคลธรรมดา เป็นบุคคลตามธรรมชาติที่มีสภาพบุคคล และมีสิทธิดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 และมีความสามารถในการทำนิติกรรม มิฉะนั้นนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ อย่างไรก็ตาม บุคคลธรรมดานี้ในบางกรณีไม่อาจจะทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง ดังนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้มีการตั้งตัวแทนกระทำการแทนได้ตามมาตรา 797 นอกจากนี้ในกรณีที่บุคคลบากพวกไม่อาจทำนิติกรรมได้ด้วยตัวเองเพราะเหตุหย่อนความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลจำพวกนี้ต้องมีผู้แทนตามกฎหมายกระทำการแทนได้แก่ ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เป็นต้น[4]

                1.2 นิติบุคคล บุคคลประเภทนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 บุคคลประเภทนี้มีความแตกต่างจากบุคคลธรรมดา เพราะจะกระทำการใดๆ ต้องอยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล และเนื่องจากเป็นบุคคลซึ่งเกิดโดยกฎหมาย มิใช่บุคคลธรรมชาติ ดังนั้นการแสดงเจตนาใดๆ เพื่อกระทำนิติกรรมก็ต้องกระทำโดยผู้แทนของนิติบุคคลตามมาตรา 70 เช่น กรรมการผู้จัดการหุ้นส่วนจัดการ หรือ อธิบดี เป็นต้น[5]

วิธีการแสดงเจตนาแบ่งออกเป็น 2 วิธีมีดังนี้
1. การแสดงโดยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา สามาแยกย่อยได้เป็นกรณีย่อย 2 กรณีดังนี้

                1.1 การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง คือ การแสดงเจตนาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น การพูด การเขียน การพยักหน้า การปรบมือ ตัวอย่าง เด็กขายหนังสือพิมพ์เอาหนังสือพิมพ์มาส่งให้ ผู้ซื้อยื่นมารับหนังสือพิมพ์และจ่ายราคาหนังสือ หรือ อาการที่แบมือรับเงินชำระหนี้ นับว่าเป็นนิติบุคคลที่มุ่งจะระงับทรัพย์สินในหนี้ที่เขานำมาชำระหนี้ให้แล้ว

                1.2 การแสดงเจตนาโดยปริยาย หรือ โดยทางอ้อม กล่าวคือ ในการที่เขาแสดงเจตนานั้น เขาอาจจะไม่คิดที่จะให้เกิดผลในทางกฎหมาย แต่ในความรู้สึกของวิญญูชนคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการแสดงเจตนาออกมาแล้ว ตัวอย่าง การที่เจ้ามรดกตาย ทายาทของเจ้ามรดกได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของเจ้ามรดก แสดงให้เห็นได้ว่าทายาทผู้นั้นได้แสดงเจตนาเข้ารับมรดกแล้ว  หรือ การที่เจ้าหนี้ให้สัญญาเงินกู้คืนแก่ลูกหนี้หรือฉีกทิ้งเสีย พอจะสันนิษฐานได้ว่า เจ้าหนี้ได้แสดงเจตนาโดยปริยายปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว[6]

2.การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง คือ การแสดงเจตนานั้นนอกจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายดังกล่าวแล้ว ยังแสดงเจตนาได้โดยการนิ่งได้ แต่โดยหลักทั่วไปแล้วการนิ่งไม่ถือเป็นการแสดงเจตนา เพราะการแสดงเจตนาต้องเป็นการแสดงความประสงค์ของผู้ทำนิติกรรมนั้นให้ปรากฎออกมา แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่กฎหมายยอมรับรองว่าการนิ่งนั้นเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง หรือเป็นการนิ่งที่ตามปกติประเพณีทั่วไปหรือที่ประพฤติกันระหว่างคู่สัญญาถือว่า การนิ่งเช่นนั้นถือว่า เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรม การนิ่งที่เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรม เช่น ในเรื่องของการเช่า ถ้าครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินนั้นอยู่ต่อไปโดยที่ผู้ให้เช่ารู้แล้วนิ่งเฉยแล้วไม่ทักท้วง กฎหมายให้ถือว่า มีสัญญาเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดช่วงเวลาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายให้ถือว่า การนิ่งของคู่สัญญาเช่าเป็นการแสดงเจตนาเสนอสนองก่อให้เกิดสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา[7]

ผลของการแสดงเจตนามี 2 ประเภท คือ

1.การแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยแท้ คือ เป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยผู้แสดงเจตนาได้แสดงเจตนาของตนออกมาโดยไม่ต้องมีผู้รับ หรือไม่ต้องมีผู้รับรู้ก็มีผลสมบรูณ์แล้ว เช่น การทำพินัยกรรม เป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยแท้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้เขียนข้อความเป็นหนังสือว่า ถ้าเขาตายแล้วในทรัพย์สินต่างๆ ตกแก่ใครบ้าง เมื่อเขาตายพินัยกรรมก็มีผลทันทีโดยมิต้องมีการแสดงเจตนารับจากผู้รับแต่อย่างใด เราจึงถือได้ว่า การทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว[8]

2.การแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

                2.1 การแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 168 ได้บัญญัติไว้ว่า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ในทำนองเดียวกัน[9]

                ดังนั้น การแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า หมายถึง การแสดงเจตนาที่คู่กรณีในการแสดงเจตนาสามารถติดต่อทำความเข้าใจกันได้ทันที โดยไม่คำนึงถึงว่าเขาจะได้เห็นหน้ากันหรือไม่ เช่น คู่กรณีพูดหรือตะโกนให้ได้ยินกันได้ แม้จะมีฝากันทำให้มองไม่เห็นหน้ากันก็นับว่าเป็นการแสดงเจตนาเฉพาะหน้าแล้ว และในมาตรา 168 ยังได้บัญญัติว่า ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ในทำนองเดียวกัน ดังนั้น ถ้าคู่กรณีสามารถติดต่อตกลงกันได้ หรือทำความเข้าใจกันได้ในขณะนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุลคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าทั้งสิ้น เช่น ก. บอกให้ ข. บอกขายรถยนต์ให้ ข. คำบอกขายนี้อาจจะบอกต่อหน้าหรือบอกขายทางโทรศัพท์ก็ได้ เมื่อ ข. ได้ทราบแล้วก็ย่อมถือว่าการแสดงเจตนาของนาย ก. สมบรูณ์[10]

                2.2 การแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มาตรา 169 ได้บัญญัติไว้ว่า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นจะไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล

                การแสดงเจตนานที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ[11]

การแสดงเจตนาประเภทนี้เป็นกรณีที่ผู้แสดงเจตนากับผู้รับไม่ได้อยู่ต่อหน้าจึงต้องใข้ระยะเวลาในการติดต่อ มาตรา 169 จึงบอกว่า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า ให้มีผลนับแต่วันที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา[12]

คำว่า "ไปถึง" ในที่นี้ตามแนววินิจฉัยของศาลฎีกา อาจสามารถสรุปได้ว่า หมายความถึงเมื่อการแสดงเจตนานั้นได้ส่งไปยังอยู่ในเงื้อมมือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งโดยพฤติการณ์ตามปกติ ผู้นั้นควรจะได้ทราบการแสดงเจตนาที่ส่งมา ไม่ว่าผู้รับการแสดงเจตนานั้นจะยอมรับหรือไม่ (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 183 - 185/2497, 1183/2506, 318/2501) หรือมีผู้รับแทน (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 136/2501) หรือ ผู้รับไม่ยอมรับ (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1806/2512, 474 - 475/2513)[13]

การถอนการแสดงเจตนา
                การถอนการแสดงเจตนานั้น มิใช่จะผูกพันผู้แสดงเจตนาเสมอไป กฎหมายยังเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงได้โดยการถอนการแสดงเจตนา ซึ่งเมื่อถอนการแสดงเจตนาแล้ว การแสดงเจตนานั้นก็ไม่ผูกพันผู้แสดงเจตนา ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 169 ว่า "แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นจะไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล" เช่น กรณีบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าต้องการบอกเลิกสัญญาเช่า จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้เช่า ต่อมาผู้ให้เช่าเปลี่ยนใจซึ่งต้องรีบบอกถอนโดยทำตามมาตรา 169 คือ ต้องรีบส่งหนังสือบอกถอนการแสดงเจตนานั้นให้ไปถึงผู้รับโดยเร็ว โดยให้ไปถึงก่อน หรือถึงพร้อมกันกับหนังสือบอกเลิกสัญญา จึงจะมีผลให้การบอกเลิกสัญญาสิ้นผล
[14]

กรณีที่ผู้แสดงเจตนาตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถ
                เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งเจตนาไปแล้วตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ว่า "การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ" [15]

                ดังนั้น การแสดงเจตนาย่อมไม่เสื่อเสียไป ยังคงผูกพันผู้แสดงเจตนาอยู่ต่อ แม้ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นอยู่ใน มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรค 2 มิให้ใช้บังคับ ถ้าหากขัดกับเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดงเจตนาออกไป หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นผู้ไร้วความสามารถ"[16]

                ดังนั้นโดยผลของบทบัญญัติมาตรา 360 จึงทำให้ไม่สามารถนพมาตรา 169 วรรค 2 มาใช้ใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
                1. ขัดกับการแสดงเจตนาที่ผู้เสนอแสดงเจตนาไป หมายถึง ผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้พร้อมกับคำเสนอนั้นด้วยว่าถ้าเขาตายไปก่อนที่คำเสนอจะไปถึงผู้รับให้ถือว่าคำเสนอนั้นสิ้นผลไป
[17]

                2. ก่อนสนองรับ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่ก่อนแล้วว่าผู้เสนอตาย หรือ ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ เช่น นาย ก. เขียนจดหมายเสนอขายบ้านส่งไปให้นาย ข. ที่จังหวัดเชียงใหม่ นาย ข. เห็นจดหมายก็อยากได้บ้านของนาย ก. แต่ระหว่างนั้นนาย ข. ทราบว่า นาย ก. ถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่ก็ยังอยากจะได้บ้านของนาย ก. อยู่ จึงทำหนังสือตกลงซื้อขายให้นาย ก. กรณีนี้แม้คำเสนอของนาย ก. จะมิได้ระบุว่า ถ้า นาย ก. ตายให้คำเสนอสิ้นผล แต่คำเสนอของนาย ก. ก็ยังสิ้นผลอยู่ดี เพราะถือว่านาย ข. รู้อยู่แล้วว่านาย ก. ตายก่อนที่จะเสนอรับ ดังนั้น จึงไม่ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด้[18]


[1] พวงผกา บุญโสภาคย์ ประสาน บุญโสภาคย์, กฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2551) หน้า 13
[2] พรชัย สุนทรพันธุ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด, 2551) หน้า 56
[3] พวงผกา บุญโสภาคย์ ประสาน บุญโสภาคย์, กฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2551) หน้า 13
[4] ไชยยศ เหมะรัชตะ, ย่อหลักกฎหมายแพ่งพาณิชย์นิติกรรม (กรุงเทพมหานคร : หมู่บ้านมหาไทย ยูนิค โฮมส์, 2552) หน้า 98 - 99 
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 99
[6] นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยาย LA 103 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), 2553) หน้า 7 - 8
[7] อัครวิทย์ สุมาวงศ์, คู่มือการศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรม สัญญา (กรุงเทพมหานคร : พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย)) หน้า 7
[8] นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยาย LA 103 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), 2553) หน้า 10 - 11  
[9] พรชัย สุนทรพันธุ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด, 2551) หน้า 59
[10] นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยาย LA 103 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), 2553) หน้า 13  
[11] พรชัย สุนทรพันธุ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด, 2551) หน้า 60
[12] นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยาย LA 103 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), 2553) หน้า 13  
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 14
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 15
[15] พรชัย สุนทรพันธุ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด, 2551) หน้า 60
[16] นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยาย LA 103 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติสาส์น (ลุงชาวใต้), 2553) หน้า 16  
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 16
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 17

Reference
1.พวงผกา บุญโสภาคย์ และ ประสาน บุญโสภาคย์, กฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2551)
2.พรชัย สุนทรพันธุ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(กรุงเทพมหานคร :บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด, 2551)
3.ไชยยศ เหมะรัชตะ, ย่อหลักกฎหมายแพ่งพาณิชย์นิติกรรม(กรุงเทพมหานคร : หมู่บ้านมหาไทย ยูนิค โฮมส์, 2552)
4.อัครวิทย์ สุมาวงศ์, คู่มือการศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรม สัญญา (กรุงเทพมหานคร : พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย))
5.นิติสาส์น(ลุงชาวใต้), สรุปคำบรรยายLA 103 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติสาส์น(ลุงชาวใต้), 2553)